
เปิดแม่บทพัฒนาอากาศยาน กพท. เผยอีก 10 ปีสร้างใหม่ที่ภาคใต้และภาคเหนือ ทอท.เคาะ เวนคืนที่ดิน บ้านธิ 7 พันไร่ กว้านซื้อที่ดิน ต.โคกกลอย 7 พันไร่ สร้าง “เชียงใหม่-ภูเก็ต” แห่งที่ 2 ค่าก่อสร้าง 1.26 แสนล้าน รอรัฐบาลใหม่เคาะเดินหน้า คาดภูเก็ตสร้างได้เร็วกว่า กรมท่าอากาศยานปักหมุดบางเลน-นครชัยศรี 3,500 ไร่ รับเที่ยวบินอาเซียน
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผย ว่า แผนแม่บทท่าอากาศยานที่ กพท.ศึกษาระยะเวลา 20 ปี (2561-2580) เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาสนามบินใน 38 แห่ง ให้สนามบินที่มีอยู่ในปัจจุบันมีการพัฒนา airside (พื้นที่เขตการบิน) และ landside (พื้นที่นอกการบิน) รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
พื้นที่เหมาะสมของ จ.เชียงใหม่อยู่ ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน เพราะสภาพพื้นที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างรันเวย์ จะใช้พื้นที่ 7,000 ไร่ เวนคืนที่ดินกว่า 5,000 โฉนด เนื่องจากพื้นที่มีจุดอ่อนไหว เช่น มีวัด ชุมชน โรงพยาบาล ส่วนสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ ต.โคกกลอย ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา พื้นที่ 7,000 ไร่ โฉนดกว่า 200-300 แปลง มีเจ้าของที่ดินหลัก 10 ราย จะซื้อขายง่ายกว่าการเวนคืนที่ดิน
“หลัง ครม.อนุมัติ ทอท.จะไปเร่งจัดหาที่ดินเพื่อประเมินราคา มีทั้งซื้อและเวนคืน ดูแล้วการหาที่ดินสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 จะเร็วกว่าสนามบินเชียงใหม่แห่ง 2 หลังได้ที่ดินจะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หากผ่านทุกขั้นตอนถึงจะเปิดประมูลใช้เวลาสร้าง 4 ปี”
จากการประมาณการณ์สนามบินเชียงใหม่และภูเก็ตแห่งที่ 2 คาดว่าจะมีปริมาณจราจรทางอากาศสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2581 สนามบินเชียงใหม่คาดการณ์จะมีผู้โดยสาร 23.33 ล้านคน และเที่ยวบิน 137,790 เที่ยวบิน ซึ่งจากแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่จะสามารถพัฒนาจนเต็มศักยภาพในปี 2568 มีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี ส่วนสนามบินภูเก็ตแห่งใหม่ในปี 2581 คาดมีผู้โดยสาร 42.42 ล้านคน เที่ยวบิน 211,150 เที่ยวบิน จากแผนแม่บทพัฒนาจะพัฒนาจนเต็มศักยภาพในปี 2565 รองรับผู้โดยสารที่ 18 ล้านคนต่อปี
คาดมีสนามบินใหม่ 2 แห่ง
ส่วนสนามบินที่จะสร้างแห่งใหม่ในแผนแม่บทระบุว่ามี 2 แห่ง ภาคใต้ที่ จ.ภูเก็ต จะสร้างแห่งที่ 2 มีพื้นที่เหมาะสมที่ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา และภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ สร้างบนพื้นที่รอยต่อเชื่อมกับลำพูน พื้นที่เหมาะสมอยู่ อ.สันกำแพง และ อ.บ้านธิ โดย บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) จะเป็นผู้ศึกษารายละเอียดและลงทุน
“เราทำแผนแม่บท จะดูพื้นที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน ใน 10 ปีนี้จะมีการสร้างใหม่ที่เชียงใหม่กับภูเก็ตเท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นยังรับได้อยู่ไม่ต้องสร้างเพิ่ม เช่น ภาคอีสานไม่พบว่าจะต้องมีสนามบินแห่งใหม่ แต่เจ้าของหน่วยงานทั้งกรมท่าอากาศยาน และ ทอท.ก็สามารถขยายในพื้นที่เดิมได้หากดีมานด์เกินขีดความสามารถแล้ว เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ส่วนสนามบินนครปฐมทางกรมท่าอากาศยานกำลังศึกษา”
ขณะที่สนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือในแผนแม่บทระบุว่า สามารถขยายได้ แต่อาจจะมีนโยบายที่เปลี่ยนไป เพราะรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเป็นเมืองการบิน เป็นกิจกรรมพิเศษ รองรับสนามบินสุวรรณภูมิ รัฐจึงสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะทำให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น
ที่มา prachachat.net